วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กล้อง 550D

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รู้จัก White Balance (สมดุลแสงสีขาว)

เคยสงสัยอยู่เหมือนกันนะว่า White Balance มีไว้เพื่ออะไร

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับ ว่า WB สำหรับกล้องดิจิตอลนั้นคือ filter แก้สีให้ถูกต้อง เท่านั้นเองครับ ซึ่งจะมีหลายแบบ ให้เลือกใช้กันครับ ... แต่จะแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ .. ซึ่ง WB เหล่านี้จะทำหน้าที่แก้สีของภาพ ในบรรยากาศตอนเราถ่ายภาพ

    เราเห็นแอ๊บเปิ้ลสีแดง เพราะ แสงสะท้อนจากแอ๊บเปิ้ลนั้นวิ่งเข้าสู่ตาเราครับ ... วัตถุที่เราเห็นมีสีอะไร คือ วัตถุนั้นสะท้อนแสงนั้นเข้าตาเราครับ .. และในความหมายเดียวกันวัตถุนั้น ก้อดูดกลืนแสง(สี)ที่เรามองไม่เห็นจากวัตถุนั้นเช่นกันครับ

    เหมือนสีดำ จะไม่สะท้อนสีใด แต่จะดูดกลืนทุกช่วงสี (ผมขออธิบายง่ายๆว่าเป็นสี ไม่ขออ้างอิงเรืองความยาวคลื่นแสง หรือ การสะท้อนแสงนอกเหนือระดับ visible light) นะครับ

    โดยปกติแล้ว แสงอาทิตย์ที่เราเห็น พอผ่านปริซึมหรือเมื่อมีการหักเห ก้ออกมาเป็นเจ็ดสีนั่นเองครับ (ขอเรียกสี แล้วกันนะครับ แต่จริงๆแล้ว คือ ช่วงความยาวคลื่นที่ต่างกัน )

    ... วงเวียนนี้(รูปด้านล่าง) ก้อแสดง สีของแสง ... หรืออุณหภูมิของแสง .... เราจะได้สีของแดด ต่างกันไปในเวลาที่แตกต่างกัน แสงของแดดในแต่ละวันจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่เมฆ แล้วแต่สภาพพื้นที่ หลายอย่างครับ ...

    แม่สีที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น ขออธิบายสั้นๆว่า RGB หรือ red green blue นั้นเป็นแม่สีของแสงครับ ... รวมกันแล้วได้สีขาว ..
    เป็นแม่สีของระบบไฟฟ้า .... ดังนั้นค่าที่ถูกต้องของสีพวกนี้จึงต้องอ้างอิงจาก สีขาว ..หรือที่เราเรียกว่า white balance นั่นเองครับ ...

    เวลาถ่ายรูปกล้องจะมี WB มาให้เลือกใช้หลายค่า เพื่อจะทำให้ภาพที่ได้มีสีที่ถูกต้อง ตามสภาพแสงที่ผิดเพี้ยนไป ... เคยถ่ายกลางคืนแล้วหน้าออกมาเขียวๆหรือแดงส้มๆไหมครับ ..

    นั่นแหละฮะประเด็นใหญ๋ .... เช่นกรณีอยู่ในห้องที่มีหลอดไส้แบบเก่า เราเรียกว่าหลอดทังสเตน ... แสงของหลอดไฟทังสเตน เกิดจากความร้อนที่ไส้หลอด แสงที่ออกมา จะเป็นพลังงานที่เกิดจากการกระโดดข้ามชั้นของอิเล็กตรอน ในโมเลกุลของไส้หลอด -*-

    มันให้แสงที่มีสีที่เราเห็นนั่นแหละครับ ง่ายๆ แหะๆๆ

    สีจะออกแนวส้มๆ ใช่มั้ยครับ คนที่ถูกถ่ายก้อจะส้มไปด้วย WB ในกล้องก้อเหมือนกับ filter แก้สีครับ ทำให้เหมือนใช้ filter ที่จะให้ค่าแสงถูกต้อง หน้าไม่ส้มจนเกินไปครับ โดย เราจะสามารถเลือก filter ได้ถูกต้องจากการ ทราบสภาพแสงครับ ...


    แต่ยกตัวอย่างจาก การใช้งานจะง่ายกว่า มาดู White balance ของกล้องคุณกันนะครับ (เอาส่วนใหญ่)

    อันเเรก ....... รูปพระอาทิตย์ .......

    หมายถึง WB ทีเราควรจะเลือกใช้ในวันที่มีแดดดีๆครับ ..... แสงจะมีโทนอยู่ระหว่าง Cyan กับ Blue (ดูวงเวียนสีประกอบนะครับ) ... แดดดีๆเนี่ย UV ก้อมากถูกมั้ยครับ .... แสง UV จะให้สีฟ้าอมน้ำเงิน เพราะฉะนั้น... แสงที่ถูกต้องที่กล้องควรจะจับภาพคือ ต้องใส่ filter ที่มีสีตรงข้ามกัน ก้อเหมือนแก้ทางกันนะเองครับ ..... เพราะฉนั้นสีที่ตรงข้ามกันกับ UV คือสีส้ม ดูวงเวียนครับ



    เมื่อเราใช้ รูปก้อจะไม่ติดโทนน้ำเงินมากนักครับ .... (ลองหาฟิลเตอร์ uv ของกล้องฟิล์มมาดูนะครับ จะเห็นว่า มีสีชมพูอ่อนๆ แล้วแต่ยี่ห้อด้วยนะครับ)



    มาถึง WB ที่เหลือ

    อันที่หน้าตาเป็นเมฆ ... เราเรียก cloudy ครับ

    ........ การที่เมฆมากก้อเหมือนกับไอน้ำในอากาศมากครับ .. ไอน้ำเหล่านี้จะทำหน้าที่สะท้อนแสงแดดได้อย่างดี เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ดวงเล็กๆนั่นเองครับ .... ดังนั้น เท่ากับว่า เหมือนกับเรามีปริมาณ UV เพิ่มขึ้นมามากกว่าเดิม ถูกมั้ยครับ ... แสดงว่าสีที่เพิ่มขึ้นก้อต้อง ........

    ติดน้ำเงินมากยิ่งขึ้น.......... ดังนั้น WB ที่จะเอามาแก้แบบนี้คือ cloudy ก้อจะต้องมีสี ..........ตรงข้าม blue ก้อคือ สีแดงครับ .... ถ้าตอนนี้มีกล้องในมือก้อเอามาเล่นได้เลยนะครับ ลองปรับไปที่ WB cloudy ดูนะครับ ... ถ้าสภาพแสงปกติ จะเห็นได้เลยว่ารูปจะออกมาสีแดงๆ ... นั่นเป็นเพราะเหมือนเราใส่ filter สีแดงเข้าไปนั่นเองครับ ....

    WB คือ การใส่ filter ให้กล้องเพื่อให้ได้ค่าสีที่ถูกต้อง ......



    อันที่สามเป็นรูปหลอดไฟ ... หมายถึง หลอดไส้ เราเรียก wb แบบนี้ว่า ทังสเตนครับ

    ไฟที่ออกมาจากหลอด สีจะออกส้มๆ ถูกมั้ยครับ ...ดังนั้น filter ก้อจะอยู่ตรงข้าม
    คือสีฟ้า

    ดูจากวงเวียนนะครับ .....

    เพราะฉนั้นเวลาเราไปอยู่ในสภาพแสงที่แตกต่างกันเราก้อจะสามารถเลือก wb ให้ถูกต้องทำให้เราได้สีที่ถูกต้องครับ ....

    อันสุดท้าย ..... หลอดยาว .... คือ หลอดฟลูออเรสเซนต์นั่นเองครับผม ....
    ที่ใช้กันตามบ้านนั่นแหละครับ
    หลอดฟลู นี้ เกิดจากหลักการง่ายๆคือการทำให้ก๊าซคลอรีนเรืองแสง ... สีของคลอรีน โดยทางเคมีแล้วคือสีเขียวนะครับ ...

    ดังนั้นแสงที่ออกมาจะออกเขียวแต่ตาคนเราอาจะเเยกไม่ออกครับ ...

    ถ้าแสงอมเขียวดังนั้น filter คือ สีม่วง



    จากกระทู้ของคุณ .hit.
    http://topicstock.pantip.com/camera/topicstock/O3030176/O3030176.html

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

รู้จัก Contrast (คอนทราสท์)

Contrast คือ อะไร

Contrast หรือ ความเปรียบต่าง มีความหมายเข้าใจง่ายๆว่า "การเปรียบเทียบกันระหว่างของที่แตกต่าง" เช่น เทียบขาวกับดำ , เทียบสว่างกับมืด

สำหรับการถ่ายภาพนั้น คำว่า contrast หมายถึง การเปรียบเทียบกันระหว่างส่วนที่สว่างที่สุด กับส่วนที่มืดที่สุด ว่าห่างกันอยู่เท่าไหร่ ยิ่งห่างกันมาก ยิ่งหมายถึงความเปรียบต่างมีมาก

ในการถ่ายภาพดิจิตอลในปัจจุบัน เราแบ่งระดับความสว่างออกเป็น 8bits level หรือ พูดให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายหน่อยก็คือ แบ่งระดับความสว่างออกเป็น 256 ระดับ

ความมืดที่สุดจะมีระดับความสว่างเท่ากับ 0
ความสว่างที่สุดจะมีระดับความสว่างเท่ากับ 255

ดังนั้นคำว่าภาพcontrastสูง จึงหมายถึงว่าระดับความแตกต่างระหว่างจุดที่สว่างสุด กับส่วนที่มืดสุด ควรจะมากที่สุด คือ มีส่วนที่สว่างสุดคือ 255 และมีส่วนที่มืดสุดคือ 0


แต่ในปัจจุบัน คำว่า contrast มักจะถูกเหมารวมไปกับคำว่า Gradation หรือการไล่ระดับ






ดูจากสามภาพที่นำมาลงข้างต้น รูปทั้งสามมีส่วนที่สว่างสูงสุด สว่างเท่ากันคือขาววอกเหมือนกัน( 255 ) และดำมืดที่สุดเท่ากัน (0) พูดง่ายๆว่ารูปทั้ง3นี้มีcontrastสูงสุดแล้ว แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ รูปบนสุดมีgradationสูงสุด คือสามารถไล่โทนได้มากกว่า

ในปัจจุบันมักจะถูกทำให้เข้าใจกันว่า ภาพhigh contrast คือ ภาพที่มีส่วนดำมากๆ และขาวมากๆ หรือ gradationน้อยลง โดยเฉพาะในsoftwareตกแต่งภาพซึ่งจะเป็นเช่นนี้จริงๆ เมื่อปรับcontrastให้มากขึ้น ก็จะพบว่าภาพมีgradationน้อยลง


จากภาพ
ด้านขวาปรับคอนทราสสุด เพิ่มแสงสีขาวไปส่วนhighlightเพิ่มสีดำไปที่เงา จะเห็นส่วนสว่างก็สว่างจ้า saturationถูกกลบไปด้วยความขาว ส่วนมืดก็จะดำปื้ด ส่วนไหนใกล้ขาวสุดก็จะกลายเป็นขาวสุด ส่วนไหนใกล้ดำสุดก็จะดำสุด ขอบเขตแสงเงาเด่นชัด ส่วนที่ถูกทำให้มืดปริมาณสีก็จะเพิ่มมาด้วย
ด้านซ้าย ลดคอนทราส ลดความเปรียบต่าง มีทางเดียวครับเอาสีเทากลางผสมเข้าไปขอบเขตแสงเงาจะหายากขึ้น ปริมาณแสงในทุกส่วนจะถูกเกลี่ยกันไปทั้งภาพ

ข้อมูลและภาพ จากpixpros.net ครับ


รู้จักแฟลช แหล่งกำเนิดแสงเทียม

เล่ากันถึงเรื่อง Flash ลองอ่านแล้วทำความเข้าใจดูนะครับ ขออภัยที่ภาพประกอบน้อย งานราษฏร์รุมเร้า เลยไม่ได้ค้นกรุหามา ถ้ามีเวลาจะหามาเพิ่มเติมให้ครับ

Auto การเปิด/ปิดแฟลชขึ้นกับการคำนวณของกล้อง โดยถ้าแสงเพียงพอก็จะปิดแฟลช ถ้ามืดแฟลชจะเปิด

Forced Flash เป็นการเลือกการเปิดแฟลชโดยตากล้องเอง เป็นการยิงแฟลชออกไป 1 ครั้งพร้อมกับการบันทึกภาพ

Red eye reduction เป็นการเลือกการเปิดแฟลชโดยตากล้องเอง โดยเป็นการยิงแฟลช 1 ครั้งก่อนเพื่อให้รูม่านตาหดลง แล้วยิงแฟลชอีกครั้งพร้อมบันทึกภาพ เป็นการป้องกันตาแดงที่เกิดจากแสงแฟลชสะท้อนกับเรตินา บางครั้งจะใช้ไม่ได้ผล เช่น ใส่ contact lens, ความกว้างของรูม่านตา-ความเร็วในการหดรูม่านตา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะบุคคล หากใช้แฟลชแบบนี้แล้วแก้ไขไม่ได้ ต้องอาศัยโปรแกรมตบแต่งภาพ

Slow syncho เป็นการใช้แฟลชร่วมกับการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ แต่จะสูงกว่าการไม่ใช้ร่วมกับแฟลช มีประโยชน์ในการเก็บภาพกลางคืนเมื่อต้องการฉากหลังด้วย เช่น night portrait แต่ต้องระวังเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของตัวแบบและมือของตากล้องเอง แนะนำให้ใช้ขาตั้งกล้อง รวมทั้งบอกตัวแบบให้อยู่ให้นิ่งที่สุดจนกว่ากล้องจะบันทึกภาพเสร็จ

Flash off เป็นการเลือกการปิดแฟลชโดยตากล้องเอง

สำหรับโหมดของกล้องบางโหมดจะไม่มี Flash บางอันในรูปแบบที่กล่าวมา ขอให้ศึกษาจากคู่มือเพื่อการใช้งานที่รวดเร็ว

เนื่องจากแฟลชเป็นแสงที่แข็งดังนั้นต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้ เพราะจะทำให้แสงที่ได้รู้สึกไม่ธรรมชาติ ตากล้องบางคนจะใช้แผ่นกรองแสงเพื่อทำให้แสงนุ่มขึ้น ยกตัวอย่าง กระดาษไข, แผ่นพลาสติกสีขุ่น

แสงแฟลชที่ติดมากับกล้องจะมีระยะทางในการใช้งานค่อนข้างจำกัด โดยมากจะบอกกันในหน่วยเมตร แต่ในความเป็นจริง การใช้งานกล้องจะมีการเปลี่ยนแปลง ISO, Speed shutter, F-number ทำให้ไม่ตรงกับที่บริษัทกล้องได้ทำการทดสอบมา ประสบการณ์จึงมีความสำคัญในการกะระยะทางการใช้งานแฟลช (การทำภาพ close-up หลังดำโดยใช้แฟลช ก็ใช้ข้อกำจัดเกี่ยวกับระยะทางการใช้งานแฟลชนี่ล่ะ)

การเลือกเปิดการใช้งานแฟลช ไม่จำเป็นต้องรอให้มืดครื้ม แสงไม่พอก็ได้ กลางแดดจัดจะเกิดเงาที่ชัดเจน การถ่ายภาพบุคคลจึงต้องมีการลบเงาด้วยการ Fill flash เข้าไป กล้องดิจิตอลทั่วไปจะมีการเลือกกำลังของแฟลช หากแดดแรงมาก กำลังแฟลชก็ควรจะเลือกให้สูงด้วยเพื่อลบเงา

แฟลชทำให้เกิดประกายตา ที่ทำให้ภาพบุคคลดูมีชีวิตชีวา โดยเลือกใช้ Forced flash เลือกกำลังแฟลชต่ำๆ (กำลังแฟลชติดลบ) หากอันเดอร์ไปให้ทำการวัดแสงโดยใช้โหมด M วัดแสงให้พอดีแล้วปรับชัตเตอร์ให้แสงอันเดอร์เล็กน้อย -1/3 stop ถึง -2/3 stop (บางครั้งจะต้องใช้แสงพอดี ขึ้นกับระยะของตัวแบบกับกล้อง) แล้วยิงแฟลชใส่

บางกรณี หากเกิดความเปรียบต่าง(contrast) ระหว่างฉากหน้าซึ่งมืดกับฉากหลังสว่างมาก เช่นย้อนแสง นอกจากจะแก้ปัญหาด้วยการชดเชยแสงแล้ว ยังสามารถใช้แฟลชกับฉากหน้าเพื่อให้สว่าง โดยวัดแสงที่ฉากหลังเตรียมไว้ซะก่อน จะได้ภาพที่ฉากหน้าและฉากหลังที่แสงพอดี(อย่าลืมคำนึงถึงระยะทางของการทำงานแฟลช)

ทั้งหมดเล่าจากประสบการณ์ อาจจะไม่ครบถ้วนเกี่ยวกับการใช้งาน หากใครมีอะไรเพิ่มเติม สามารถลงได้เลย ในกระทู้นี้จะไม่พูดถึงการใช้แฟลชนอก (External flash) ซึ่งกล้องบางตัวติดตั้งไม่ได้ ขอบคุณที่ให้ความสนใจครับ.

รู้จักการชดเชยแสง

จากระบบวัดแสงของกล้อง กล้องจะมองแสงที่สะท้อนจากวัตถุเป็นสีเทากลาง เคยสังเกตมั้ยว่า ทำไมถ่ายสีขาวออกมาเป็นขาวหม่นๆ ถ่ายสีดำกลับไม่ดำอย่างตาเห็น ผู้ผลิตกล้องเลยแก้ไขข้อผิดพลาดนี้ โดยการใส่ ปุ่มชดเชยแสง เข้าไป

EV ย่อมาจาก Exposure Value [+/-] มี่ทั้งการชดเชยแสงไปทั้งทางบวก + ทางลบ -

การชดเชยแสง จะมีหลายขั้น(step) บางรุ่นชดเชยขั้นละ 1/2 EV บางรุ่นชดเชยขั้นละ 1/3 EV

การชดเชยแสง 1 EV เท่ากับ 1 stop



ที่มาของภาพ : http://images.digitalcamerainfo.com/...9-exposure.gif

การชดเชยแสงจะเปิดใช้ได้เฉพาะโหมดกึ่งอัตโนมัติ (P,A,S) ส่วน Manual ไม่มีการชดเชยแสง เพราะสามารถปรับได้เองทั้งหมด

อาจจะลองถ่ายภาพมา 1 ภาพ

-ถ้าภาพนั้นมืดเกินไป ให้ชดเชยแสงไปทางบวก

-ถ้าภาพนั้นสว่างเกินไป ให้ชดเชยแสงไปทางลบ


การที่จะชดเชยแสงกี่ขั้นนั้น ไม่มีข้อกำหนดตายตัว ตากล้องต้องกะการชดเชยแสงเองเพื่อให้ได้ภาพที่ตรงใจ

ถ้าภาพนั้นมีทั้งสีสว่างและสีเข้มอยู่ในภาพเดียวกันล่ะ?

หลัก 2 ใน 3

-หากภาพนั้นมีพื้นที่ของสีสว่างมากกว่า 2 ใน 3 ให้ชดเชยแสงไปทางบวก

-หากภาพนั้นมีพื้นที่ของเข้มมากกว่า 2 ใน 3 ให้ชดเชยแสงไปทางลบ


ทั้งนี้ขึ้นกับจุดสนใจของภาพที่เราต้องการแสดงด้วย.

แต่อย่าลืมคำนึงถึงอัตราส่วนของสีนั้นๆต่อภาพด้วยนะครับ.

รู้จักการวัดแสง

การวัดแสงคืออะไร
การวัดแสง คือ การกำหนดขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้ได้ค่าแสงที่พอดี คือมีค่าใกล้เคียงกับสีเทามาตรฐาน 18% ในสภาพแสงหนึ่งๆ


ระบบการวัดแสงมีกี่แบบ

ในกล้องดิจิตอลจะมีระบบการวัดแสง 3 แบบด้วยกัน

ระบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ (Average หรือ Evaluative Metering, [ ] ) เป็นระบบการวัดแสงที่เอาพื้นที่ทั้งหมดของภาพมาคิดคำนวณหาขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่ให้ค่าแสงพอดี ซึ่งระบบวัดแสงแบบนี้จะแบ่งภาพออกเป็นส่วนๆ จากนั้นจะนำเอาทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างมาหาค่าเฉลี่ย ระบบวัดแสงแบบนี้ให้ความแม่นยำได้ดีในสภาพแสงที่มีความแตกต่างของแสงไม่มาก ยกตัวอย่างเช่น ภาพทิวทัศน์ การวัดแสงนี้ยังให้ความสะดวกและรวดเร็ว เหมาะสำหรับถ่ายภาพที่ไม่ต้องการความแม่นยำในการวัดแสงมากนัก เช่น ภาพงานพิธีต่างๆ, ภาพแคนดิด

ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยหนักกลาง (Center-weighted Average หรือ Pattern Metering, [ ๏ ] ) เป็นระบบการวัดแสงที่เอาพื้นที่ทั้งหมดของภาพมาคิดคำนวณหาขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่ให้ค่าแสงพอดี แต่จะมีการเน้นหนักไปบริเวณกึ่งกลางภาพ ซึ่งการให้น้ำหนักจะแตกต่างไปแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ ยกตัวอย่าง ให้น้ำหนักของการวัดแสงตรงกลางภาพ 75% ส่วนรอบนอกให้น้ำหนัก 25% เป็นต้น การวัดแสงแบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะสำหรับภาพที่ตากล้องต้องการให้ค่าแสงพอดีเน้นไปที่กึ่งกลางภาพ เช่นการถ่ายภาพบุคคล, มาโคร

ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot หรือ Partial Metering, [ • ] ) เป็นระบบวัดแสงที่ใช้พื้นที่ตรงกึ่งกลางของภาพเพื่อคำนวณหาขนาดรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ที่ให้ค่าแสงพอดี ยิ่งพื้นที่มีขนาดเล็กมาก จะให้ความแม่นยำที่สูง แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดสูงเช่นกัน เพราะหากจุดที่จะวัดแสงเลื่อนไปแค่นิดเดียว ค่าเปิดรับแสงที่วัดได้ก็จะเปลี่ยนไป ระบบการวัดแสงแบบนี้เหมาะสำหรับสภาพแสงที่แตกต่างกันมากๆ(high contrast) เช่น การถ่ายภาพย้อนแสง, การถ่ายภาพพระจันทร์

ที่จริงแล้วระบบการวัดแสงทั้งสามที่กล่าวมาสามารถใช้แทนกันได้ทุกสถานการณ์ หากมีรู้เกี่ยวกับ “การชดเชยแสง” --ตัวอย่าง ในการถ่ายภาพบุคคลย้อนแสง ในระบบการวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ ภาพที่ได้จากค่าแสงพอดีจะทำให้หน้าตัวแบบมืด หลายคนอาจเลี่ยงไปใช้การวัดแสงเฉพาะจุด แต่จริงๆแล้วสามารถที่จะทำให้หน้าของตัวแบบสว่างขึ้นได้ โดยใช้การชดเชยแสง

รู้จักความยาวโฟกัส

หลายๆคนที่เป็นมือใหม่ กำลังหากล้องเป็นของตัวเอง หรือใช้งานกล้องตัวแรก คงสงสัยว่าอะไรคือ Wide, Normal, Telephoto ซึ่งกล้องหรือเลนส์จะระบุไว้ ผมขออนุญาตแสดงความเห็นความความเข้าใจนะครับ...

1.Wide Lens ก็คือ เลนส์มุมกว้าง เป็นช่วงเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสสั้น (น้อยกว่า 50 mm.) การใช้เลนส์ช่วงนี้จะมีผลต่อทัศนมิติ ( Perspective) มาก คือก่อให้เกิดความโค้งหรือผิดเพี้ยนของรูปทรงได้ ยิ่งทางยาวโฟกัสน้อยเท่าไหร่ ยิ่งผิดเพี้ยนได้มาก องศาของการรับภาพก็ยิ่งมากขึ้นด้วย เลนส์ช่วงนี้มีความพิเศษคือวัตถุที่อยู่ใกล้ๆจะมีความใหญ่ ดูโดดเด่นขึ้นมากกว่าฉากหลัง โดยมากเลนส์ชนิดนี้ใช้สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์เกือบๆ 80 % แต่ก็สามารถให้ความรู้สึกแปลกตาสำหรับภาพแนวอื่นๆได้เช่นกัน ในช่วงนี้ยังรวมถึง Fish Eye lens สำหรับกล้อง SLR หรือ DSLR ด้วย


2.Normal Lens คือ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมาตรฐาน(เท่ากับ 50 mm.) เมื่อเรามองผ่านเลนส์จะมองเห็นภาพของวัตถุมีขนาดคงที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ไปจากการมองวัตถุนั้นด้วยตาเปล่า

3.Telephoto Lens คือเลนส์ระยะไกล เหมาะสำหรับการถ่ายวัตถุที่อยู่ไกลๆ ให้มีขนาดใหญ่ เป็นช่วงเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากกว่า 50 mm. มีองศาการรับภาพที่แคบ เลนส์ชนิดนี้วัตถุที่อยู่ไกลจะมีความโดดเด่นกว่าวัตถุที่อยู่ใกล้ มีความสามารถที่จะจำกัดมุมมองของภาพ แนวภาพที่ใช้ส่วนมาก คือ Portrait (Portrait ไม่ได้จำกัดที่การถ่ายภาพบุคคลนะครับ) เพราะมีข้อดีคือทำให้หลังละลาย วัตถุจะโดดเด่นขึ้นมา

ทั้งนี้ เลนส์แต่ละทางยาวโฟกัสสามารถใช้แทนกันได้ทุกแนวทางการถ่ายภาพ ไม่มีอะไรตายตัวครับ ลองหามุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น ภาพของคุณจะสวยงามและโดดเด่นขึ้นมากเลยครับ.

หากผิดพลาดประการใด ขออภัย ณ ที่นี้ด้วย

รู้จักรูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์

รูรับแสง และ ความเร็วชัตเตอร์

รูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ถือเป็นหัวใจของการถ่ายภาพ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักถ่ายภาพทุกคนไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือมืออาชีพต้องรู้ไว้ จึงจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานการถ่ายภาพที่ดีได้

รูรับแสง (Aperture) บางทีก็เรียกกันว่า"หน้ากล้อง" การทำงานก็เหมือนกับชื่อ นั่นก็คือเป็นช่องที่ปล่อยให้แสงผ่านเข้าไป ซึ่งรูรับแสงจะไปสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์(ซึงคือเวลาที่ปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปผ่านรูนั้น) ทำให้เกิดความสว่างและรายละเอียดของภาพต่างๆกัน โดยขนาดของรูรับแสงจะวัดเป็น F number ซึ่ง F number นี้ยิ่งมีค่าน้อย รูรับแสงจะยิ่งกว้าง(อาจจะขัดกับความรู้สึกนิดๆ) และค่าของ F-number นั้นจะเพิ่มขึ้น(หรือลดลง)เป็น stop เช่น F2.0, 2.8 , 4.0 , 5.6 , 8 ,11,16 , 22 เป็นต้น โดยแต่ละ stop จะกว้างขึ้น(หรือแคบลง) 1 เท่า เช่น F2.8 จะกว้างกว่า F4 อยู่ 1 เท่า



จากภาพ ยิ่ง F เลขมาก รูรับแสงยิ่งแคบลง

เนื่องจากรูรับแสงสัมพันธ์กับความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งรูรับแสงที่กว้างจะช่วยให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงๆได้ ทำให้ถ่ายภาพในลักษณะที่มีการเคลื่อนไหว (เช่น ถ่ายภาพกีฬา) ได้ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นรูรับแสงที่กว้างยังจะช่วยให้เกิดลักษณะภาพชัดตื้น(หน้าชัด หลังเบลอ) ได้อีกด้วย



จากภาพ - การใช้รูรับแสงกว้างๆ (F เลขน้อยๆ) จะช่วยให้เกิดภาพที่มีลักษณะ"ชัดตื้น" ขึ้นได้
ภาพซ้าย F2.8 ความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที
ภาพขวา F8 ความเร็วชัตเตอร์ 1/4 วินาที


ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed)

ความเร็วชัตเตอร์คือเวลาที่ปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปยังฉากรับภาพ(ในกล้องดิจิตอลคือ CCD) โดยมีหน่วยเป็นวินาที เช่น 1/1000 วินาที 1/30 วินาที 1 วินาที 8 วินาที เป็นต้น ( 1/1000 วินาทีเร็วกว่า 1 วินาทีนะจ๊ะ ) โดยยิ่งความเร็วชัตเตอร์ยิ่งสูงยิ่งสามารถจับภาพได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ภาพไม่เบลอ แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ในเรื่องของรูรับแสงแล้วว่า ความเร็วชัตเตอร์ทำงานสัมพันธ์กับรูรับแสง หากความเร็วชัตเตอร์ยิ่งเร็ว ยิ่งทำให้ต้องมีรูรับแสงที่กว้าง จึงจะทำให้เกิดภาพที่ไม่มืด



จากภาพ - ความเร็วชัตเตอร์สูงๆ จะช่วยหยุดการเคลื่อนไหวได้ F2.8 ความเร็วชัตเตอร์ 1/500 วินาที

แต่ไม่ใช่ว่าความเร็วชัตเตอร์ยิ่งเร็วถึงจะดี เพราะความเร็วชัตเตอร์ยังสัมพันธ์กับลักษณะของภาพที่ได้ด้วย เช่น เมื่อเราไปถ่ายน้ำตก ความเร็วชัตเตอร์ที่เร็ว จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดของเม็ดน้ำ แต่ความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้นจะช่วยให้เห็นน้ำเป็นสาย



ภาพซ้าย - ความเร็วชัตเตอร์ชัตเตอร์สูงๆ (ค่าน้อยๆ) จะช่วยให้หยุดการเคลื่อนไหวของน้ำได้ภาพขวา - ความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้น จะช่วยให้เห็นน้ำเป็นสาย

หรือการถ่ายภาพไฟในตอนกลางคืน หากเราตั้งความเร็วชัตเตอร์นานๆ(อย่าลืมใช้ขาตั้งกล้อง) ก็จะช่วยให้เห็นไฟเป็นสาย ให้ความสวยงามไปอีกแบบ

Name:  night1.jpg Views: 10031 Size:  15.5 KB
รูรับแสง (F) 22 ความเร็วชัตเตอร์ 10 วินาที สังเกตุไฟของรถยนต์ที่เป็นสาย

Name:  night2.jpg Views: 9975 Size:  22.4 KB
ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆ ช่วยให้เก็บรายละเอียดของแสงไฟได้ดี รูรับแสง (F) 22 ความเร็วชัตเตอร์ 8 วินาที

ความสัมพันธ์ระหว่าง รูรับแสง กับ ความเร็วชัตเตอร์
เมื่อเรารู้จักกับค่าทั้ง 2 ตัวแล้ว เราจะพบว่าทั้งรูรับแสงกับความเร็วชัตเตอร์ มีความสัมพันธ์กันในเรื่องของการเปิดรับแสง และความสว่าง/มืดของภาพ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากแต่อย่างใด สมมติว่าแสงมีค่าๆหนึ่งที่พอดี ไม่ทำให้ภาพมืดหรือสว่างจนเกินไป เมื่อรูรับแสงกว้าง(F ตัวเลขน้อยๆ)แสงก็จะเข้าได้มาก ชัตเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดรับแสงนาน จึงใช้ความเร็วสูงๆได้ แต่หากเปิดรูรับแสงแคบๆ(F ตัวเลขมากๆ)ก็จำเป็นต้องมีความเร็วชัตเตอร์ที่ช้าลง(เปิดนานขึ้น) เพื่อให้ได้แสงที่มีปริมาณพอเพียง
ถ้าหากว่าบางคนกำลังสงสัยอยู่ในใจว่า แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าแสงจะพอดี ไม่สว่างหรือมืดเกินไป หรือจะรู้ได้ยังไงว่าปรับรูรับแสงขนาดเท่านี้แล้วต้องปรับความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่แล้วละก็ ไม่ต้องกังวลครับ หากอยู่ในหมวดกึ่งอัตโนมัติ เช่น P หรือหมวดปรับรูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์เองแล้วละก็ กล้องจะทำการเลือกค่าที่เหลือที่เหมาะสมให้อัตโนมัติ แต่หากว่าอยู่ในโหมด Manual กล้องก็จะมีมาตรวัดความสว่างให้ครับ ว่าค่าที่ตั้งทำให้รูปมืดหรือสว่างเกินไปหรือเปล่า
หวังว่าคงมีประโยชน์นะครับ

ข้อมูล และภาพประกอบโดย
Powered by Kman

รู้จักความไวแสง ISO

ISO เป็นคำที่มาจากภาษากรีกโบราณ ความหมายเมื่อแปลเป็นไทยแปลว่า "เท่ากับ" นั่นเอง แต่เรามักจะเจอคำนี้แทนคำว่า "มาตรฐาน" ในหลายๆ ครั้ง
สำหรับคำว่า ISO ในเรื่องของการถ่ายภาพ ก็จะหมายถึงค่ามาตรฐานที่บอกความไวแสงของเซ็นเซอร์ของกล้องดิจิตอล ยิ่งมีค่าความไวแสงมากขึ้นเท่าไหร่ (ISO เลขสูงๆ) ก็จะยิ่งใช้แสงน้อยเท่านั้นในการเก็บภาพ พูดกันแบบภาษาชาวบ้านก็คือยิ่งค่า ISO สูงขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดี คือเมื่อจำเป็นต้องใช้แสงน้อยก็สามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์สูงขึ้นได้ ทำให้โอกาสเบลอของภาพน้อยลงนั่น

Name:  iso.jpg Views: 6774 Size:  28.1 KB
จากภาพ - ภาพนี้ตั้งค่ารูรับแสง F5.0 และความเร็วชัตเตอร์ 1/200 วินาทีคงที่ จะเห็นว่าเมื่อ ISO สูงขึ้นภาพจะสว่างมากขึ้น

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่ายิ่ง ISO ยิ่งสูงจะยิ่งดี แม้ว่าที่ ISO ต่ำๆจะต้องการแสงมาก แต่ก็จะให้ภาพที่มี Noise (ที่เห็นเป็นจุดๆๆๆ) น้อยที่สุด ทำให้รายละเอียดของภาพไม่เสียไป แตกต่างจากเมื่อใช้ ISO สูงขึ้น ก็จะปรากฎ Noise มากขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้ Noise ก็ขึ้นอยู่กับรุ่น/ยี่ห้อของกล้องด้วย เช่นกล้อง dSLR ซึ่งมี sensor ขนาดใหญ่ มักจะมี Noise น้อยมาก แม้ที่ ISO สูงๆก็ตาม

Name:  noise.jpg Views: 6316 Size:  29.1 KB
จากภาพ - ภาพนี้ถ่ายด้วย ISO 1600 เมื่อขยายดูรายละเอียด จะเห็นว่าภาพเป็นจุดๆ นั่นแหละที่เรียกว่า Noise

การตั้งค่า ISO สำหรับถ่ายรูป
ปกติกล้องจะถูกตั้ง ISO เป็น Auto ไว้ แต่ส่วนใหญ่ก็จะทำงานได้ดีเฉพาะถ่ายกลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้นการปรับค่า ISO ให้เหมาะสมก็มีความจำเป็น เช่น ในกรณีที่ถ่ายในที่มืดแล้วไม่ต้องการใช้แฟลช โดยอย่าลืมว่าเมื่อปรับค่า ISO แล้วค่ารูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์จะเปลี่ยนไปด้วยนะครับ

AUTO ISO - อันนี้กล้องจะเป็นตัวจัดการปรับค่า ISO ให้เองโดยอัตโนมัติ โดยจะดูจากแสงที่ตัวแบบที่จะถ่าย คนถ่ายไม่ต้องไม่ยุ่งกับมัน แต่อย่างที่บอก กล้องมักจะเก่งเวลาถ่ายกลางแจ้งเท่านั้น
ISO 50 - 80 - เหมาะสำหรับถ่ายกลางแจ้งที่มีแสงจัดๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายวิว ถ่ายคน ให้คุณภาพที่ดีที่สุด Noise จะปรากฏให้เห็นน้อยที่สุด แต่ไม่ใช่กล้องทุกรุ่นจะถ่ายที่ ISO นี้ได้
ISO 100 - เป็นค่าที่นิยมกันมากที่สุดสำหรับถ่ายกลางแจ้ง ว่ากันตามทฤษฏี คุณภาพขอภาพจะด้อยลงนิดหน่อย แต่เอาเข้าจริงก็ยากจะแยกออกจาก ISO 50-80
ISO 200 - เหมาะสำหรับถ่ายในวันที่ท้องฟ้าไม่ใส ในร่มที่ไม่มืดนัก คุณภาพของภาพยังจัดว่าดี แต่อาจจะเริ่มมี Noise ปรากฏให้เห็นบ้าง
ISO 400 และสูงกว่า มักจะใช้ถ่ายในร่มมากๆหรือกลางคืนเมื่อไม่ต้องการใช้แฟลช ยิ่งสูงยิ่งปรากฏให้เห็น Noise เยอะ ส่วนจะเยอะแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกล้องยี่ห้อ/รุ่นนั้นๆด้วย
ก็หวังว่าทุกคนคงจะพอเข้าใจและเลือกใช้ ISO ได้เหมาะสม ส่วน ISO 9001 หรือ ISO14000 ที่พวกบริษัทหรือโรงงานมักจะบอกว่าได้กัน อันนั้นมันคนละเรื่องกันนะครับ อย่าเอามาปนกันเด็ดขาด!!

หวังว่าจะมีประโยชน์กันนะครับ
ข้อมูลและภาพประกอบโดย
Powered by Kman

เดี๋ยวนี้กล้องรุ่นใหม่ ๆ นั้นมีค่า ISO สูงไปถึง 6400 - 12800 แล้วครับ

กะลาน้อย

ทักทายกันก่อน

ผมเป็นคนธรรมดาธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะมีกล้องที่ ถ่ายภาพได้สวย ๆ บ้าง
บังเอิญได้เห็นเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันถ่ายภาพด้วยกล้อง DSLR
แล้วพบว่าภาพที่ได้ออกมาช่างสวยงามอะไรเยี่ยงนี้ แล้วเราก็จับกลุ่มคุยกัน ผมถามเกี่ยวกับเรื่องกล้องที่เขาใช้อยู่ เค้าก็พยายามแนะนำอะไรหลาย ๆ อย่างที่เป็นภาษาไทย แต่ผมมีความรู้สึกว่าเหมือนภาษาต่างดาวอะไรเยี่ยงนี้
จึงเข้าใจได้ว่าเราอยู่กันคนละโลก เพราะเค้าเป็นมือโปร และเราเป็นไม่มีมือ เราไม่เข้าใจภาษาของเค้าเลย
อะไรคือ ISO อะไรคือวัดแสง อะไรคือ สปีดชัตเตอร์
ที่น่าตะลึงและพึ่งรู้ก็คือ อะไรคือเลนซ์ ทำไมแพงงี้วะ เลนซ์ห่าไร แพงกว่ากล้องอีก แบกเลนซ์ไปทำป๊ะเท่งป๊ะอะไรวะ ต้องสองสามอัน
ยืมของมันมาถ่าย พอถ่ายไปมันก็บอก อันเดอร์ อะไรวะ...อันเดอร์ ไม่เข้าใจ
และอื่น ๆ อีกมากมาย

สรุปเป็นอันว่า ผมกำลังศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับกล้อง DSLR ซึ่งถ้าเจอแล้วผมก็จะลงไว้ที่บล็อกเพื่อดูเอง
และเผื่อเพื่อน ๆ ที่กำลังคิดจะเล่นกล้อง DSLR ด้วยครับ เพราะคงอารมณ์เดียวกัน อย่างน้อยก็จะหาความรู้มาให้พออ่านเว็บบอร์ดเกี่ยวกับช่างภาพให้พอรู้เรื่องเหมือนอยู่โลกเดียวกันก็แล้วกันนะครับ

กะลาน้อย